ฟื้นความหลัง

[-HoMe-] [-Thai M.5-] [-Thai M.5_2-] [-PorTFoRiO-] [-WeBBoArD-] [-WeBMaSTeR-]

ฟื้นความหลัง

๑.      เมื่อข้าพเจ้าอ่านหนังสือเรื่องประโลมโลก นิราศ เพลงยาว

        ข้าพเจ้าเล่าไว้แล้ว  ว่าบิดาข้าพเจ้าเป็นคนสะสมหนังสือ และหนังสือเหล่านี้โดยมากมักแต่งเป็นคำกลอน

และเป็นเรื่องขนาดสั้นทั้งนั้น บิดาข้าพเจ้าเมื่อรับประทานอาหารเย็น ก่อนที่จะลงมือรับประทานข้าว ท่านจิบสุราและกับแกล้มก่อน จิบสุราเป็นแบบกินเหล้าของชาวจีน คือดื่มทีละน้อย จิบครั้งหนึ่งแล้ว ก็กินกับแกล้มเพื่อกลั้วคอให้หายบาดคอ แล้วจึงจิบใหม่

        บิดาข้าพเจ้าอ่านหนังสือเรื่องอะไรแล้ว ถึงเวลากินข้าวมื้อเย็น พวกลูกๆที่โตแล้วก็ร่วมกินอาหารด้วย ตอนนี้ท่านก็เล่าเรื่องต่างๆที่ท่านเคยประสบมา และที่ท่านได้อ่านมา ท่านไม่ได้เล่าเฉยๆ แต่แสดงความเห็นของท่านประกอบด้วย พวกลูกใครจะฟังหรือไม่ก็ช่าง ท่านก็เล่าของท่านเรื่อย จิบเหล้าและกับแกล้มพลาง เล่าไปพลาง อยู่อย่างนั้นเรื่อยไป

        เมื่อข้าพเจ้ายังเป็นเด็กอยู่ ก็อ่านหนังสืออย่างง่ายๆได้คล่อง ในชั้นต้นไม่ได้เป็นไปด้วยความสมัครใจ เพราะเด็กต้องการกระโดดโลดเต้นมากกว่าอ่านหนังสือ นอกจากจะถูกบังคับให้เล่าต้องอ่านเกี่ยวกับการเรียนของตน หนังสือที่อ่านนั้น อันนอกเหนือไปจากหนังสือเรียน คือเรื่อง "จักรๆ วงศ์ๆ" มีชื่อรวมอีกอย่างหนึ่งว่าเรื่องประโลมโลก แปลว่าเรื่องที่ทำให้โลกพึงพอใจ โลกในที่นี้หมายถึงคน โดยเฉพาะคนในระดับชั้นพวกชาวบ้านร้านตลาดและมักจำกัดอยู่ในพวกผู้หญิง ซึ่งในสมัยที่เล่านี้ยังไม่รู้จักอ่านหนังสือกันแพร่หลาย เมื่ออยากรู้เรื่องอะไรในหนังสือ ก็ต้องวานให้คนที่อ่านหนังสือออกเป็นผู้เล่าให้ฟัง โดยมากเป็นผู้ชาย  แต่นักเรียนมันไม่สนุกด้วย จึงต้องมีสิ่งล่อใจให้อ่าน ทีแรกก็ขนมหรือของเล่น ภายหลังต้องมีค่าจ้างอ่าน เด็กจึงยอมอ่านด้วยดี  เหตุนี้เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็ก  จึงรับอ่านหนังสือเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ให้ผู้หญิงสองคนเป็นผู้ขาย เมื่อข้าพเจ้ารับจ้างอ่านหนังสืออยู่บ่อยๆ

        ภายหลังเมื่อไม่มีใครเขาจ้างอ่าน ข้าพเจ้าก็อ่านเองด้วยความสมัครใจ  เพราะเรื่องหนังสือประเภทนี้ถูกใจ ด้วยเป็นเรื่องพิลึกพิลั่น เกี่ยวกับยักษ์มาร เหาะเหินเดินฟ้าก็ได้ มีอาวุธวิเศษ และแผลงฤทธิ์ได้ต่างๆ เพราะเร้าจินตนาการซึ่งมีอยู่ในเด็ก ส่วนผู้หญิงพวกชาวบ้านยังต้องการฟังเรื่อง "เข้าพระเข้านาง" อย่างที่เคยดูละครมาแล้ว ยิ่งเป็นเมียหลวงเมียน้อยหึงหวงทะเลาะกันก็ยิ่งหูผึ่งชอบฟังมาก เพราะอาจปลุกอารมณ์ เหตุนี้ หนังสือประเภทเรื่องประโลมโลกจึงเป็นที่ถูกใจของประชาชน  แม้แบบรูปเรื่องประโลมโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แต่ข้อใหญ่ใจความหรือเนื้อหาของเรื่องประโลมโลกนั้นยังมีและสิงลึกอยู่ในจิตใจของประชาชน เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า "คนไม่ใช่มีชีวิตอยู่ตามลำพังได้ด้วยอาหารทางปากอย่างเดียว ถ้าขาดอาหารทางใจตามระดับชั้นแห่งจิตใจของประชาชน โรคภัยไข้เจ็บก็ตามมาแน่"

        หนังสือซึ่งตีพิมพ์เป็นเล่มเล็กๆ และบางๆ ในสมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กส่วนใหญ่เป็นเรื่องพระพุทธศาสนา ซึ่งตีพิมพ์เพื่อแจกจะเอาบุญ ซึ่งแต่งเป็นกลอนแปด แต่เรียกกันเป็นสามัญว่ากลอนตลาด นอกนี้ก็มีเรื่องสุภาษิตคำกลอน  เช่น สุภาษิตสอนหญิง สุภาษิตขี้ยา และสวัสดิรักษา เป็นต้น ถัดจากเรื่องสุภาษิต ก็เป็นเรื่องนิยายของชาวบ้าน เช่นเรื่องฑิตดีฑิตร้าย อันที่จริงหนังสือสองชนิดนี้ก็มีไม่มากเรื่องนัก  แต่นึกชื่อเรื่องที่เคยอ่านเมื่อเด็กไม่ออก อ้อ นึกออกขณะนี้ได้อีกสองเรื่อง คือ เรื่องกลโกง คำกลอน ซึ่งแสดงอุบายวิธีต่างๆ ซึ่งเป็นเล่ห์เหลี่ยมของคนโกง

        หนังสือเรื่องเหล่านี้ แม้เป็นเรื่องพ้นสมัยแล้ว แต่ก็มี "ค่าของสังคม"  ฉายสะท้อนให้เห็นความเป็นอยู่ของสังคมไทยได้ไม่มากก็น้อยว่ามีความคิดเห็นและความเป็นอยู่ของคนสมัยนั้นอย่างไร

        ในบรรดาหนังสือแต่งเป็นกลอนดั่งกล่าวมานี้ นึกขึ้นได้อีกเรื่อง คือเรื่องชานพระศรี  ซึ่งบิดาข้าพเจ้าเคยเล่าให้ฟังอยู่บ่อยๆ ลางคราวท่านก็ว่ากลอนปากเปล่า หนังสือชานพระศรีนี้ขณะนั้นยังไม่มีอยู่ที่บ้านข้าพเจ้า อยากอ่านก็อยากอ่าน แต่ก็หาอ่านไม่ได้ ทำไมจึงอยากอ่าน เพราะในนั้นมีนิทานสอนใจอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่องขรัวเต๊ะและฑิตสอน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ตรัสเล่าให้นายเพงดูเหมือนมีสร้อยว่านโปเลียน เพราะเวลานั้นมีเรื่องประวัตินโปเลียนโบนาปาดแต่งเป็นภาษาไทยเรื่องหนึ่ง ซึ่งโรงพิมพ์หมอบรัดเลเป็นผู้พิมพ์ นายเพงนโปเลียนผู้นี้ ภายหลังต่อมาในรัชกาลที่  ๕ มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ท่านผู้นี้ได้นำเรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่ามาแต่งเป็นกลอนแปด ให้ชื่อเรื่องว่า ชานพระศรี  แปลว่าชานหมากของในหลวง ยังมีกลอนให้ชื่อว่า สุภาษิตปิดศัพท์ ซึ่งนำข้อความซึ่งเป็นสุภาษิตมาแต่งบิดเบือนความให้มีลักษณะหันเหไปเสียอีกทางหนี่ง เช่น "ใคร ทำคุณเราคิดทำลายล้าง"(จำได้เท่านี้) การแต่งหนังสือในทำนองนี้ เป็นจำพวกเดียวกับการแต่งซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า irony มีลักษณะกล่าวให้ตรงกันข้ามกับความจริง

        ล่วงเวลามานานหลายปี  ครั้นข้าพเจ้าเข้ารับราชการในกรมศุลกากรแล้ว เมื่อเอ่ยถึงหนังสือชานพระศรี  ว่าไม่ทราบ จะหาอ่านได้ที่ไหน เพื่อนข้าราชการคนนั้นก็บอกว่าของเขามี แต่ฟังน้ำเสียงซึ่งเขาพูดต่อไปดูเหมือนเขาจะหวงมาก ข้าพเจ้าจึงไม่กล้าออกปากขอยืมอ่าน ทั้งๆที่เขาคุ้นเคยกับข้าพเจ้ามาก ท่านผู้นี้ภายหลังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเวลาล่วงต่อมาจนข้าพเจ้ามาทำงานที่ราชบัณฑิตยสถานแล้ว ท่านผู้นี้ก็ถึงอนิจกรรมไป บุตรของท่านซึ่งมียศเป็นพลเรือนตรีมาปรารภกับข้าพเจ้าถึงเรื่องหนังสือสำหรับจะตีพิมพ์แจกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพบิดา ข้าพเจ้าระลึกถึงเรื่องเดิมได้จึงแนะนำให้ตีพิมพ์เรื่องชานพระศรี เป็นหนังสือแจก แต่ครั้นแล้วก็ไม่ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ในงานศพบิดา จะเป็นเพราะค้นหาต้นฉบับที่บิดาเคยมีอยู่ไม่ได้ หรือยังไม่จุใจในเรื่องนั้นหรือจะอย่างไร ข้าพเจ้าก็จำไม่ได้เสียแล้ว

        จำได้ว่าเมื่อข้าพเจ้ายังรับราชการอยู่ที่หอสมุดวชิราวุธและหอสมุดวชิรญาณ ซึ่งบัดนี้รวมกันและเรียกว่าหอสมุดแห่งชาติ เคยสอบถามเจ้าหน้าที่ถึงเรื่องหนังสือชานพระศรี ก็ไม่มีใครเคยทราบว่ามีอยู่ในหอสมุด  ข้าพเจ้าจึงช่วยตนเอง ลงมือค้นหาหนังสือเรื่องนี้ที่ในหอสมุดว่าจะมีจริงหรือไม่มีจริง ในที่สุดก็ค้นพบ เคยแนะนำผู้ซึ่งมาขอต้นฉบับหนังสือหอสมุดไปตีพิมพ์ในงานกุศล ก็ไม่มีใครสมัครใจตีพิมพ์เรื่องชานพระศรี ติว่ามีขนาดเล็กไปบ้างหรือไม่เห็นเป็นหนังสือคำกลอน ไม่เหมาะแก่ที่จะใช้ชำร่วยในงานศพซึ่งเป็นเรื่องทุกข์โศก

        กลับมากล่าวเรื่องชานพระศรี ต่อมามีผู้รับเอาไปตีพิมพ์แจกในงานศพครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกโล่งใจว่าหนังสือเรื่องนี้จะยังไม่สูญไปทีเดียว  แต่ทว่าในที่สุดก็จะต้องสูญไปเองเป็นธรรมดาไม่ช้าก็เร็ว เพราะไม่มีอะไรในโลกนี้อยู่ที่

        หนังสือถัดจากเรื่องประโลมโลกและเรื่องสุภาษิตเป็นต้น ซึ่งเป็นหนังสือขนาดเดียวกัน ก็มีเรื่องนิราศและเรื่องกลอนเพลงยาว

        หนังสือเรื่องนิราศ  แต่เดิมตอนเมื่อยังเด็ก หนังสือเรื่องนิราศซึ่งยังตีพิมพ์กันอยู่บ้างในทุกวันนี้ ดูเหมือนจะจำกัดอยู่แต่เรื่องนิราศของสุนทรภู่เป็นส่วนมาก แม้ที่บ้านมีหนังสือเรื่องนิราศหลายเล่ม ดูลาดเลาเรื่องนิราศจะไม่ใคร่นิยมอ่านในหมู่คนทั่วไป นอกจากเรื่องนิราศของสุนทรภู่ และของคนอื่นบ้างไม่มากก็น้อย

        ถัดจากเรื่องนิราศก็คือ หนังสือเรื่องเพลงยาว ซึ่งบัดนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ใคร่นิยมอ่านกันทั่วไป เพลงยาวในที่นี้ หมายถึงกลอนสามัญที่เรียกว่ากลอนตลาด แต่งเป็นทำนองจดหมายรัก โต้ตอบกันในระหว่างหญิงกับชาย หนังสือเพลงยาวถ้าแต่งดี อาจทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์สะเทือนใจ คล้อยไปตามอารมณ์ของกวีผู้ประพันธ์

        ที่เรียกว่าเพลงยาว  เห็นทีจะสืบมาจากเล่นเพลงของชาวบ้านชนบท ซึ่งว่าเพลงแก้กันเป็นกลอนสด เป็นเชิงเกี้ยวพาราสีหรือตัดพ้อต่อว่ากัน ไม่ผิดแปลกอะไรกันมากนักกับจดหมายเพลงยาว จะต่างกันที่อย่างแรกระบายความในใจให้แต่ละฝ่ายทราบ แต่อย่างหลังแต่งหนังสือโต้ตอบกัน มีคติชาวบ้านอย่างหนึ่งว่า ผู้หญิงไม่ควรรู้หนังสือ เพราะถ้ารู้หนังสือแล้วอาจเล่นเพลงยาวกับผู้ชายให้เกิดเสียหายจนใจแตกได้

        คติไม่ให้ผู้หญิงรู้หนังสือ เพราะเกรงจะลอบเขียนหนังสือหรือแต่งเป็นเพลงยาวโต้ตอบกับผู้ชายนั้น เรื่องอาจเกิดจากกักลูกสาวไม่ให้ไปไหนมาไหนได้โดยเสรี  ผู้รู้หนังสือจึงเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

        ในบรรดาหนังสือเพลงยาวเกี่ยวกับเรื่องรักๆใคร่ๆ มีอยู่บทหนึ่งซึ่งบิดาข้าพเจ้าเคยเล่าปากเปล่าให้ฟังอยู่เสมอ จนข้าพเจ้าจำกลอนที่ท่านเล่าได้หลายแห่ง คือเพลงยาวบทที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ

กรมหลวงภูวเนตรนิริทรรักษ์ทรงนิพนธ์ไว้ บิดาข้าพเจ้าบอกว่าราษฏรมักอ้างถึงพระองค์ท่านว่า

 "กรมหลวงภูวตา"

        ข้าพเจ้าไม่เคยอ่านเพลงยาวบทที่กล่าวข้างต้น จนอายุเด็กผ่านมาเป็นอายุหนุ่ม จึงมีโอกาสอ่านเพลงยาวฉบับนี้ในหนังสือไทย "ชุดสำรับพิเศษ"  มีเรื่องเพลงยาวของเก่าอยู่ ๒ เล่ม  ข้าพเจ้าอ่านแล้วก็นำมาให้บิดาข้าพเจ้าอ่าน  ท่านอ่านอยู่หลายเวลาแล้วบอกข้าพเจ้าว่า บทเพลงยาวที่ตีพิมพ์นี้มีถ้อยคำอยู่หลายแห่งไม่ตรงกับที่ท่านเคยอ่านและจำได้ แล้วบอกให้ข้าพเจ้าจดคำซึ่งไม่ตรงกันเป็นตัวดินสอกำกับไว้ด้วย ข้าพเจ้าเห็นว่าถ้านำเอามาเปรียบเทียบกันดูระหว่างที่บิดาข้าพเจ้าจำได้กับที่ตีพิมพ์ในหนังสือชุดสำรับพิเศษก็จะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจได้บ้าง ดังต่อไปนี้

หน้า                  บรรทัด                   ฉบับในสำรับพิเศษ                                                                ตัวดินสอ

๑๕๘                    ๑๕                          น้ำท่าปนฝนชุ่มหลุ่มเป็น                                                             ลุ่ม

๑๕๙                      ๒                           กาฝากงอกดอก แดงดั่งแสงเสน                                            ดอกออก

๑๕๙                      ๘                           เกือบได้สามาร้อยแปดถึงแหรดแรง                                            แรด

๑๕๙                     ๑๐                          ไม่มีพรั่นขั้นขาดขยาดแขยง                                                        ครั่น

                                                            เทน้ำพริกพลิกถ้อยไปฉวยแกง                                                    ถ้วย

                                                            เพราะอยากได้ ไก่พแนงเอาแกงเท                                             ยัง       ฯลฯ

        เพลงยาวบทนี้จะมีความยาวจริงอย่างไร ข้าพเจ้าไม่คำนึงถึงในแง่ข้อเท็จจริง สิ่งที่ข้าพเจ้าคำนึงถึงก็ที่โวหารการประพันธ์ในแง่ของวรรณศิลป์ ที่แสดงออกอย่างแนบเนียน แต่เผ็ดร้อน เป็นลักษณะแต่ง ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า sarcasm

      อันที่จริง หนังสือแต่งเป็นเรื่องจดหมาย ที่เรียกว่าเพลงยาว เป็นความหมายที่แคบเข้าเท่านั้น เดิมทีเดียวกลอนเพลงยาวก็หมายความว่าแต่งเป็นกลอน ๘ นั่นเอง  จะแต่งว่าด้วยเรื่องอะไรก็ได้

        มีข้อคิดอยู่อย่างหนึ่งว่า ทำไมจึงเรียกว่า "เพลงยาว" ดีร้ายบทประพันธ์ชนิดนี้จะเกิดจากการว่าลำนำเล่นเพลงกันมาก่อน ภายหลังจึงนำมาแต่งเป็นกลอน เรียกว่ากลอนเพลงยาว แล้วชื่อเรียกกลอนชนิดนี้หดสั้นเข้า เหลือแต่คำว่าเพลงยาวก็ได้ ดังคำอธิบายชนิดที่เรียกว่า"ปฤศนาธรรม" เกี่ยวกับเรื่องประเพณีต่างๆ  กลอนในจำพวกเพลงยาวซึ่งเรียกเป็นสามัญว่ากลอนตลาด มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากลอนสุภาพ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเรียกอย่างนั้น แต่เดิมกลอนเป็นชี่อรวมการแต่งหนังสืออีกจำพวกหนึ่ง ที่เรียกว่าร้อยกรอง เพื่อแยกจากการแต่งหนังสืออีกจำพวกหนึ่ง ที่เรียกว่าร้อยแก้ว ภายหลังจึงมากระจายแยกย่อยเป็นโคลงฉันท์กาพย์กลอนไป